ประวัติ ความเป็นมา

ข้อมูลทั่วไป
2922

ประวัติความเป็นมาตำบลดงบัง


 2

            บ้านดงบัง เดิมเป็นป่าดงหนาทึบมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ ช้าง บ่าง ชะนี กระรอก เป็นต้น มีหลักฐานอ้างอิงไว้ ดังนี้

          - ด้านทิศตะวันออกของบ้านห่างประมาณกิโลเมตรเศษมีหนองน้ำแห่งหนึ่งมีชื่อว่า หนองแก่นช้าง อยู่ติดกับห้วยวังดู่ซึ่งเป็นลำห้วยใหญ่และลึกมีน้ำขังตลอกฤดูกาล สันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่อาศัยของช้างจำนวนมากปัจจุบันกลายเป็นที่นาของชาวบ้านหลายเจ้าด้วยกัน

          - ด้านทิศตะวันตกของบ้านดงบัง ติดกับบ้านหนองพอก ปัจจุบันมีหนองน้ำแห่งหนึ่งมีน้ำขังตลอดปี มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ อยู่ใกล้กับลำห้วยวังหล่อง หนองนี้ชื่อ หนองซำซ้าง เนื่องจากมีช้างป่ามาอาศัยกินน้ำ เล่นน้ำ เกลือกโคลนตม ปัจจุบันเป็นที่นาของนางตู้ หมอแคนเสาร์ เจ้าของนาได้รักษาให้มีรูปหนองให้เห็นอยู่ตรงกลางและมีน้ำขังตลอดปี เจ้าของนาจึงทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา จนปัจจุบันยังคงเรียกว่า หนองซำซ้าง อยู่เหมือนเดิม

            เมื่อประมาณปี พ.ศ.2300 มีคนกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ พบที่แห่งนี้เป็นป่าทึบ เหมาะสำหรับการทำไร่ทำนาจึงได้ชวนกันปักหลักอาศัยอยู่ที่ชายป่า ชื่อว่า บ้านโนนเก่าน้อย และเป็นที่ทำกินจนมีเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมของจิตใจ ชื่อว่าวัดทุ่ง มีหลวงพ่อแป้น เป็นสมภารพอสิ้นบุญของสมภารแป้น อยู่มาได้ระยะหนึ่งวัดได้ร้างไม่มีพระจำพรรษา ชาวบ้านจึงได้มารวมกับวัดโพธาราม บ้านดงบัง (วัดโพธิ์ทองบ้านดงบัง)

             หลังจากชาวคุ้มบ้านโนนเก่าน้อย ได้อาศัยอยู่รวมกันเป็นแหล่งและมีจำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวบ้านต้องขยายที่ทำกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนกลุ่มหนึ่งอพยพไปบุกเบิกที่ทำกินห่างจากที่อยู่เดิม ประมาณ 20 เส้นตั้งเป็นคุ้มบ้านเรียกว่า บ้านโซ่งกระฮอก เพราะบริเวณนี้มีกระรอก อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันบ้านนี้เรียกว่า บ้านหนองพอก พร้อมได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาตั้งชื่อว่า วัดท่าใหญ่ มีพระชานนท์ เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นมีชาวคุ้มโนนเก่าน้อยอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาบุกเบิกป่าหนาทึบ แล้วสร้างบ้านเรือนขึ้นลางป่าซึ่งหากมองจากทางทิศตะวันออก ตะวันตก เหนือและใต้ ไม่เห็นบ้านเลยเมื่อเข้ามาถึงกลางบ้านแล้วจึงรู้ว่ามีบ้านอาศัย คนที่มาเห็นจึงรู้ว่าบ้านนี้มีดงบดบังอยู่ จึงพากันเรียกว่า บ้านดงบัง ซึ่งคำว่าดงบัง อีสาน เรียกป่าหนาทึบ ว่า ดง เรียกที่กั้นมองไม่เห็นว่า บัง

               เมื่อบ้านดงบังได้ตั้งบ้านขึ้นใหม่ๆ ชาวบ้านมีความเดือดร้อนจากการถูกสัตว์ป่ารบกวน ชาวบ้านเล่าว่า คอกสัตว์ต้องทำอย่างแน่นหนา แม้แต่หมาก็ต้องเอาขึ้นไปอาศัยบนบ้านด้วย เพราะหากไม่ทำอย่างนั้นอาจโดนเสือกัดกิน อย่างไรก็ตามก่อนนั้นสัตว์เลี้ยวได้ถูกเสือกินโดยเฉพาะหมาได้ถูกเสือลาก ไปกินทางด้านตะวันตกของบ้านอยู่เป็นประจำ จนที่แห่งนั้นชาวบ้านเรียกว่า โซ่งหัวหมา  

 

               เมื่อชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนอย่างนั้น จึงได้ร่วมกันสร้างหลักบ้าน หรือศาลเพียงตาขึ้น โดยชาวบ้านได้ทำไม้เป็นหอก ปืน หน้าไม้ ดาบ เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนามหากมีการเดือดร้อนจากสัตว์ก็ร่วมกันสาปแช่ง โดยมีตาพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี หลังจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดเป็นศูนย์รวมใจ ชื่อวัดโพธิ์ทอง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดโพธาราม จนถึงปัจจุบัน วัดนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวตำบลมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษา ครั้งแรกยังไม่มีโรงเรียน พ่อแม่สอนลูกเองในครอบครัวโดยสอนเกี่ยวกับเรื่องจารีตประเพณีการทำมหากิน ต่อมาได้มีวัดโดยพระสอนพระภิกษุ สามเณรในวัด โดยมีพระปลัดคำศิษย์หลวงปู่จันดี เป็นผู้นำสอน โดยท่านเองได้ไปเรียนต่อที่เมืองศรีภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

               อย่างไรก็ตามชาวบ้านในสมัยนั้นยังสนใจในการศึกษาน้อย จนถึงปีที่ทางราชการได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นมาราชการ ได้จัดตั้งโรงเรียนที่วัดโพธาราม โดยตั้งชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านดงบัง 1 การก่อสร้างโรงเรียนมีหลวงปู่จันดีเป็นผู้นำ มีพระปลัดคำเป็นครูใหญ่คนแรก นายหม่อง เหลาแสง นายเครื่อง ทองยศ

             จนถึงปี พ.ศ. 2509 สมัย นายทรงศิลป์ เหลาแสง ได้ร่วมกับพระครูพิสัยนวการ เจ้าคณะอำเภอในสมัยนั้นได้พร้อมใจกันหาที่ตั้ง แห่งใหม่ และได้ที่ทิศตะวันออกของสัดเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนชุมชนบ้านดงบัง

              ในปี พ.ศ.2533 โดยการนำของนายโสภณ ยอดวงษ์กอง กำนันตำบลดงบัง นายทรงศิลป์ เหลาแสง ครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านดงบัง พระครูพิสัยนวการ เจ้าคณะอำเภอ สภาตำบลดงบัง ได้ยื่นหนังสือต่อโรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ เพื่อแสดงเจตนาต้องการโรงเรียนมัธยมประจำตำบล โดยทางตำบลยินดีให้การสนับสนุนสถานที่ตั้ง ต่อมาทางกรมสามัญได้อนุมัติให้ทางโรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ได้ตั้งโรงเรียนสาขาที่ดงบังตามความประสงค์ของชุมชน โดยมี นายสุรศักดิ์ ศิริ เป็นผู้ประสานงาน สามารถเปิดทำการสอนได้ในเดือนพฤษภาคม 2534 พร้องตั้งชื่อโรงเรียนว่า ดงบังพิสัยนวการนุสรณ์  

 1

 

ประวัติตำบลดงบัง


      องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง เดิมเป็นสภาตำบลดงบัง ประมาณปี 2540 ได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในประกาศนั้น

 - องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ตั้งอยู่ที่บ้านยางสะอาด หมู่ที่ 2 ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาดูน ประมาณ 10  กิโลเมตร  ห่างจากจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ  65  กิโลเมตร  เนื้อที่โดยประมาณ  23  ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 14,375  ไร่

 9

 


 

footter22 ok 1024

 

พิมพ์